|
|
ลักษณะผู้บริหารที่ทำให้องค์กรล้มเหลว |
|
|
โดย |
อาจารย์เอนกลาภ สุทธินันท์ |
|
|
เข้าชม ผลงาน ประวัติ อาจารย์วิทยากร |
|
|
|
|
|
|
|
|
ในโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันกันสูงมาก อนาคตขององค์กรต่างๆทางธุรกิจยากที่จะคาดคะเนได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้ อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกองค์กรมีผลกระทบกับองค์กรสูงกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมภายใน จนทุกวันนี้การวิเคราะห์ S.W.O.T ANALYSIS ก็จำเป็นต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ตัว Oคือ OPPORTUNITY หรือโอกาสและตัว T คือ THREAT หรือภาวะคุกคามหรือภัยอุปสรรค ก่อน เพราะเป็นปัจจัยที่มาจากภายนอกองค์กรซึ่งมีผลกระทบแรงและเร็ว เช่น การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ ราคาน้ำมันในตลาดโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุนของเฮดจ์ฟันต่างๆ ภาวะสงครามในตะวันออกกลาง เป็นต้น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องวิเคราะห์ตัว S คือ STRENGTH คือจุดแข็งขององค์กรและตัว W คือ WEAKNESS หรือจุดอ่อนขององค์กร ซึ่งเป็นเรื่องภายในองค์กร สิ่งต่างๆเหล่านี้ย่อมท้าทายความสามารถของผู้บริหารในองค์กรต่างๆอย่างมากที่จะต้องรู้ว่าขณะนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรและควรปรับตัวอย่างไรโดยต้องศึกษาข้อมูลข่าวสารทั้งภายนอกและภายในองค์กร ต้องจับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจให้ถูกต้อง องค์กรที่จะอยู่รอดได้ในอนาคตข้างหน้าไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรใหญ่ มีชื่อเสียงมาก มีพนักงานมาก หรือมีสินทรัพย์สูงมาก แต่ต้องเป็นองค์กรที่อ่านทิศทางการเปลี่ยนแปลงให้ออกและสามารถปรับตัวเองให้สอดคล้องกับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้
จากประสบการณ์ที่ผมเคยทำงานเป็นผู้บริหารอยู่ในภาคธุรกิจและเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการในภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมทั้งเป็นวิทยากรบรรยายให้ผู้บริหารในองค์กรต่างๆทั้งในภาคธุรกิจ ราชการและรัฐวิสาหกิจฟังเกี่ยวกับหลักการบริหารงาน การบริหารคน ทำให้ผมพบว่าในองค์กรธุรกิจแบบไทยๆในขณะนี้หลายองค์กร มีผู้บริหารเป็นจำนวนมากยังมีสไตล์การทำงานที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและมีโอกาสที่จะทำให้องค์กรที่ตนเองบริหารงานอยู่ล้มเหลวได้ ผมจึงขอนำเสนอลักษณะหลายๆประการที่ผมรวบรวมขึ้นจากประสบการณ์มานำเสนอกับท่านผู้อ่านว่าลักษณะของผู้บริหารที่จะทำให้องค์กรล้มเหลวคือต้องล้มเลิกไป ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้นั้น มีลักษณะอะไรบ้าง เพื่อให้ท่านผู้บริหารและคนที่กำลังจะขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้ศึกษาและพยายามหลีกเลี่ยงอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างแต่ให้ปฏิบัติในทางตรงกันข้ามกับลักษณะที่กำลังจะนำเสนอต่อไปนี้ ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรที่ท่านบริหารอยู่สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ลักษณะของผู้บริหารที่จะทำให้องค์กรล้มเหลวนั้นมีลักษณะดังนี้คือ |
|
|
1. ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานประจำวัน
มากกว่าการคิดถึงแผนกลยุทธ์หรือการบริหารกลยุทธ์ของหน่วยงาน |
|
มีผู้บริหารเป็นจำนวนมากในองค์กรธุรกิจแบบไทยๆที่ไม่สามารถจัดสรรเวลาในการทำงานอย่างถูกต้องคือมักจะเคยชินกับการสั่งงาน มอบหมายงาน ควบคุมงาน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าประจำวันของงานและชอบทำงานในเรื่องที่ตนเองชอบทำมากกว่าการใช้เวลาในการศึกษาข้อมูล ข่าวสารทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรเพื่อกำหนดทิศทางของหน่วยงานว่า ในแต่ละปีหรือแต่ละเดือนหรือแต่ละสัปดาห์หน่วยงานของตนเองหรือองค์กรของตนควรทำเรื่องอะไรและทำอย่างไร ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการ เปลี่ยนแปลง บริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลงานในทิศทางที่ควรจะเป็น
ตัวอย่างเช่น
ผมเคยไปบรรยายให้องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีผู้จัดการแผนกซึ่งเป็นผู้บริหารระดับกลางมาฟังเป็นจำนวนมาก ผมได้ถามคำถามผู้บริหารเหล่านั้นว่า
“ในฐานะที่ท่านเป็นผู้จัดการแผนกนี้และทำงานนี้มานานหลายปีแล้ว ท่านพอจะบอกผมได้ไหมครับว่าในปีหน้า แผนกของท่านควรจะทำงานเรื่องอะไรจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์และเพราะอะไรจึงควรทำงานเรื่องนั้น"
คำตอบที่ทำให้ผมประหลาดใจมากคือผู้จัดการแผนกหลายคนตอบว่า
“ยังไม่ทราบเพราะผู้ใหญ่ยังไม่ได้สั่งการลงมาว่าปีหน้าจะให้หน่วยงานนี้ทำเรื่องอะไร”
ผมก็ย้อนถามกลับไปว่า “คุณทำงานอยู่กับข้อมูลทุกวัน คุณเห็นปัญหาทุกวัน ทำไมคุณไม่เสนอผู้ใหญ่ละครับว่าในฐานะที่คุณทำงานอยู่ตรงนี้ คุณเห็นว่าควรทำเรื่องอะไรก่อนหลัง เพราะอะไร ทำไมคุณไม่นำเสนอผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะมาทราบข้อมูลในรายละเอียดได้ดีกว่าคุณได้อย่างไรในเมื่อผู้ใหญ่ไม่ได้มานั่งทำงานตรงนี้”
ฉะนั้นเราจึงควรเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ ดำเนินกลยุทธ์ ประเมินและติดตามผลกลยุทธ์ต่างๆได้
|
|
|
2. ขาดทักษะในการสื่อสาร
คือ ทักษะการพูดจูงใจ การฟัง การอ่าน การตีความข้อมูลข่าวสารและการเขียน |
|
ผู้บริหารในองค์กรธุรกิจแบบไทยๆส่วนใหญ่จะขาดโอกาสที่จะได้รับการฝึกฝนเรื่องทักษะการสื่อสารอย่างครบถ้วน แต่ทักษะการสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญ ปัจจุบันนี้ทักษะการสื่อสารถือเป็นสมรรถนะที่สำคัญข้อหนึ่งที่เป็นดัชนีชี้วัด(KPI)ว่าผู้บริหารท่านนั้นจะสามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้บริหารในระดับที่สูงกว่าเดิมได้หรือไม่ ผู้บริหารสไตล์แบบไทยๆส่วนใหญ่(ไม่ใช่ทุกคน) มักจะถนัดการดุด่าลูกน้องหรือการพูดแบบทำร้ายจิตใจลูกน้องมากกว่าการพูดเพื่อบำรุงรักษาขวัญกำลังใจลูกน้อง เช่น การแจ้งผลการปฏิบัติงานของลูกน้องประจำปี เมื่อหัวหน้าแจ้งผลงานลูกน้องเสร็จแล้ว ลูกน้องหลายคนหมดกำลังใจในการทำงานเพราะรู้สึกว่าตนเองหมดคุณค่าต่อองค์กรนี้ หัวหน้าไม่เคยมองเห็นความดีของตนเอง เห็นแต่ความผิดพลาดทำให้หมดกำลังใจทำงานและถ้าหนักกว่านั้นคือ มาขอลาออกจากงานไปทำงานที่อื่น ตรงนี้ทำให้เกิดความสูญเสียพนักงานที่ดีๆในองค์กรไปให้คู่แข่งจำนวนมาก เรื่องของการฟังก็เป็นปัญหามากคือหัวหน้างานเป็นจำนวนมากชอบพูดมากกว่าชอบฟัง และไม่ตั้งใจฟังปัญหาของลูกน้อง หรือฟังไม่ยังจบก็ด่วนสรุปและสั่งให้ลูกน้องแก้ไขปัญหาตามความคิดเห็นของตนทำให้เกิดช่องว่างของความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง เรื่องของการฟังเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเหมือนทักษะการพูด ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเพราะทักษะเหล่านี้จะเกิดจากการฝึกเท่านั้น ผู้บริหารที่มีอายุมากขึ้นจะไม่มีพัฒนาการเรื่องการฟังได้เองถ้าหากว่าไม่ได้รับการฝึกฝนที่ถูกวิธีและในแง่การสื่อสารที่ดีนั้นหัวหน้างานควรฟังมากกว่าพูด
เรื่องการอ่านและการตีความข้อมูลข่าวสารก็เป็นเรื่องใหญ่ในแง่การสื่อสารเช่นกัน ท่านเคยพบไหมครับว่าหัวหน้างานหลายคนฟังผู้บริหารพูดพร้อมๆกันหรืออ่านประกาศ อ่านคำสั่งหรืออ่านนโยบายเรื่องเดียวกัน มีตัวอักษรเหมือนกันทุกอย่างแต่แปลความหมายแตกต่างกัน เข้าใจไม่ตรงกันทำให้ปฏิบัติไปคนละทิศทาง ปฏิบัติในเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน ซึ่งส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนี้อาจจะมาจากผู้สื่อสารสื่อสารไม่ดีก็ได้แต่อีกทางหนึ่งอาจจะมาจากการอ่านจับใจความที่ไม่ถูกต้องและวิธีคิดในการตีความหมายของข้อมูลที่ไม่เหมือนกันก็ได้ หลักการตีความข้อมูลเป็นเรื่องที่หัวหน้างานต้องฝึกไว้ ที่สำคัญคืออย่าตีความโดยอาศัยประสบการณ์ตนเองหรือเปรียบเทียบกับประสบการณ์ตนเองเท่านั้นแต่ต้องดูว่ามีหลักฐานหรือข้อมูลที่ระบุชัดเช่นนั้นหรือไม่ สุดท้ายคือเรื่องการเขียน การเขียนเป็นเรื่องใหญ่เพราะคนไทยไม่ชอบการเขียนเพราะการเขียนที่ดีต้องใช้หลักภาษา สำนวน คำพูดให้เหมาะสมและการเขียนมีลักษณะของการสื่อสารทางเดียวสูงเพราะผู้อ่านไม่ได้อยู่ต่อหน้าเราจึงไม่รู้ว่าผู้อ่านจะคิดอย่างไรทำให้ง่ายต่อการตีความผิดได้
เช่น มีหัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยของโรงงานแห่งหนึ่งเขียนจดหมายรายงานผู้จัดการโรงงานเรื่องที่เกิดเพลิงไหม้โกดังเก็บสินค้าเมื่อคืนที่ผ่านไปว่า
“จากการสอบถามพนักงานทุกคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุในคืนที่ไฟไหม้โกดังเก็บสินค้า ปรากฏผลเป็นที่น่ายินดีว่าพนักงานส่วนใหญ่ให้ข้อมูลตรงกันว่าไฟเริ่มไหม้เมื่อเวลาประมาณตี 3 เศษๆ จากห้องเก็บพัสดุที่ 2 หรือ 3 ซึ่งเก็บพวกกระดาษแข็งและผ้า น่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร แต่ก็พบว่าพนักงานบางคนพกพาบุหรี่และไฟแช็คติดตัวมาด้วย ทุกคนช่วยกันดับไฟอย่างเต็มที่โดยใช้เครื่องดับเพลิงจนสามารถดับไฟได้ตอนตี 4 โกดังถูกไฟไหม้ไปครึ่งหนึ่ง”
ท่านผู้บริหารที่อ่านข้อความนี้แล้วคงจะเกิดคำถามมากมายว่าจะเป็นที่น่ายินดีได้อย่างไรในเมือเกิดไฟไหม้แต่พนักงานคนเขียนต้องการสื่อว่าน่ายินดีตรงที่ไฟไหม้เพียงครึ่งเดียวไม่ได้ไหม้ทั้งหมด และที่สันนิษฐานว่าสาเหตุเพลิงไหม้เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรนั้นมีเหตุผลอะไรที่ทำให้สันนิษฐานเช่นนั้นและข้อความก็ขัดกันเองตรงที่ว่ามีพนักงานบางคนพกพาบุหรี่และไฟแช็คติดตัวมาด้วย ทำให้คนอ่านไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้นั้นเกิดจากคนหรือไฟฟ้าลัดวงจรกันแน่ และการเขียนที่บอกว่าเกิดจากโกดัง 2 หรือ 3 ก็ไม่ชัดเจนว่าเกิดจากโกดังไหนก่อน คนเขียนไม่ได้รายงานว่ามีพนักงานคนไหนได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายหรือไม่เขียนรายงานแต่เรื่องของที่ถูกไฟไหม้แต่ไม่รายงานเรื่องคน ตลอดจนไม่รายงานเรื่องวัน เวลาที่แน่นอนด้วย การเขียนจึงเป็นทักษะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผุ้บริหารหรือหัวหน้างานควรฝึกฝนให้ชำนาญและถูกวิธี |
|
|
3. ขาดทักษะในการทำงานเป็นทีม |
|
มีคำกล่าวว่า คนไทยนั้นถ้าให้ทำงานแบบที่ทำคนเดียวแล้วจะไม่แพ้ชาติไหน แต่ถ้าให้ทำงานแบบเป็นทีมแล้วมักจะสู้ชาติอื่นไม่ได้ ถ้าคำกล่าวนี้เป็นจริงแปลว่าเราขาดทักษะในการทำงานเป็นทีมอย่างมาก ทำไมเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่าทักษะการทำงานเป็นทีมที่สำคัญนั้นต้องเริ่มจากทุกคนในทีมต้องมีจุดมุ่งหมายเดียวกันและทุมเทให้งานสำเร็จตามเป้าหมายอย่างสุดความสามารถ เมื่อเกิดปัญหาในการทำงานต้องถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในทีมและต้องให้ทุกคนในทีมมีส่วนช่วยกันคิดหาสาเหตุและกำหนดแนวทางแก้ไขร่วมกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในการทำงาน ในการปรับปรุงหรือหาวิธีการทำงานที่ดีขึ้น ควรมีการสื่อสารในทีมแบบสองทางคือเปิดโอกาสให้ซักถามได้ถ้าไม่เข้าใจหรือสงสัย และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือทุกคนต้องเรียนรู้งานของคนอื่นๆในทีมด้วยว่าเขามีขั้นตอนการทำงานอย่างไร เวลาเกิดปัญหาในการทำงานควรหันหน้ามาปรึกษากันว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาและจะป้องกันอย่างไร แก้ไขอย่างไรให้มากกว่าการตำหนิว่าใครเป็นคนทำผิด |
|
|
4. มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มีอัตตาสูง |
|
เป็นที่น่าเสียดายว่า ระบบการศึกษาในเมืองไทยเราแต่ก่อนนั้น เน้นสร้างคนให้เป็นคนเก่งมากกว่าเน้นสร้างคนให้เป็นคนดี คนเก่งหมายถึง สอบได้ที่หนึ่งของห้อง ได้เหรียญทอง เรียนจบมาได้ปริญญาหลายใบ ได้เกียรตินิยม จะเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่และเพื่อนฝูง ค่านิยมแบบนี้ทำให้คนเก่งหลายคนมีโลกทัศน์ว่าตนเองเก่งกว่าคนอื่นมาตั้งแต่ตอนที่เป็นเด็ก และมองคนอื่นว่าด้อยกว่าตนเอง ตนเองอยู่ในระดับที่สูงกว่าคนอื่น เวลาที่ตนเองพูดอะไร หรือทำอะไร คนอื่นๆควรฟังและทำตาม ไม่ควรเถียงหรือแย้งเพราะตนเองประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง โลกทัศน์แบบนี้ทำให้ขาดการรับฟังเพื่อนร่วมงาน คิดว่าตนเองรู้ในทุกเรื่องดีกว่าคนอื่นและไม่เปิดใจกว้างให้คนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของตนเองวิจารณ์ตนเองได้ ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานร่วมกับคนอื่น คนเก่งๆหลายคนไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้เพราะความคิดเช่นนี้ ถ้าหากไปเจอลูกน้องหรือคนใกล้ชิดที่หวังจะประจบประแจงเพื่อเอาดีใส่ตัวเองด้วยแล้วยิ่งทำให้ผู้บริหารแบบนี้หลงทิศทางไปกันใหญ่เพราะผู้ใกล้ชิดจะให้ความเห็นว่า “ดีแล้วครับท่าน ถูกต้องแล้วครับ ดีทุกอย่างครับ” ผู้บริหารที่ดีควรมีความเฉลียวใจไม่รับฟังข้อมูลด้านเดียวควรคิดแบบหลายๆด้านและไม่ควรเชื่อคนที่ให้ข้อมูลด้านเดียวโดยเฉพาะคนใกล้ชิด เพราะในโลกความเป็นจริงไม่มีใครที่ทำงานอะไรโดยไม่ผิดพลาดหรือสมบูรณ์แบบ ผู้บริหารที่ดีควรพยายามค้นหาข้อผิดพลาดของตนและนำมาปรับปรุงแก้ไข ดีกว่าการที่ชื่นชอบในคำชมเชยของคนใกล้ชิดเพียงไม่กี่คน |
|
|
5. ตัดสินใจจากสัญชาติญาณมากกว่าข้อมูล |
|
ผู้บริหารระดับสูงและระดับกลางหลายคนเวลาจะตัดสินใจเรื่องสำคัญๆต่างๆนั้น จะอาศัยประสบการณ์ตนเองเป็นหลัก ตัดสินใจจากความเชื่อและทัศนะของตนเอง เพราะที่ผ่านมาตนเองตัดสินใจได้ถูกยังไม่เคยผิด การคิดเช่นนี้อันตรายมากต่อการทำธุรกิจเพราะจะขาดการปรึกษาผู้อื่นที่เกี่ยวข้องและขาดการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ยุคสมัยเปลี่ยนไป บริบทของสังคม เงื่อนไขต่างๆในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป เราอาจะเป็นคนที่เก่งที่สุด ตัดสินใจไม่เคยผิดพลาดในอดีตหรือพลาดน้อยมากแต่อย่าลืมว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว วิธีคิดในอดีต ข้อมูลที่เรามีอยู่อาจจะไม่เหมาะกับสมัยนี้ อาจจะไม่สอดคล้องกับความจริงในสมัยนี้ บางอย่างอาจจะยังใช้ได้แต่หลายๆอย่างอาจจะเปลี่ยนไป การตัดสินใจของผู้บริหารสมัยใหม่ควรอาศัยข้อมูลเป็นหลักและปรึกษา ขอความคิดเห็นร่วมกันจากทีมงานที่เกี่ยวข้องทุกคน ควรคิดเป็นทีมและตัดสินใจเป็นทีมจะเหมาะสมกว่า เช่น สมมติว่าเราต้องการขยายกำลังการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเพราะยอดขายใน 3 ปี ที่ผ่านมามียอดขายสูงขึ้นเรื่อยๆ ท่านคิดว่าน่าจะมียอดขายสูงขึ้นไปเรื่อยๆอีกในอนาคต อยากจะซื้อเครื่องจักรเพิ่มหรือพัฒนาคุณภาพเครื่องจักรให้ทันสมัยกว่าเดิมจะได้ผลิตสินค้ามากขึ้นได้ ความจริงท่านอาจจะตัดสินใจเองได้เพราะท่านเป็นเจ้าของธุรกิจ มีอำนาจอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้รอบคอบขึ้นท่านควรศึกษาข้อมูลว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สินค้าของท่านขายได้ดีใน 3 ปีที่ผ่านมา ท่านอาจจะพบว่าจริงๆแล้วเป็นเพราะว่ามีคู่แข่งบางรายที่ผลิตสินค้าอย่างเดียวกับท่านปิดกิจการลงหรือประสบปัญหาบางอย่างที่ทำให้เขาผลิตสินค้าน้อยลง ในขณะที่กำลังความต้องการของตลาดขณะนั้นเพิ่มขึ้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าของท่านขายดีใน 3 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าไม่มีทางเลือกอื่นจึงต้องมาซื้อกับท่านแต่ถ้าท่านจะขยายกำลังการผลิตในปีนี้หรือปีหน้า สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไปเพราะเกิดมีคู่แข่งรายใหม่ในตลาดเพิ่มขึ้นหลายรายทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มและความต้องการในตลาดลดลง ฉะนั้นถ้าผลิตเพิ่มอีกกำลังการผลิตจะเกินกว่าความต้องการของตลาด ทำให้ท่านอาจจะต้องลดราคาสินค้าลงเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งใหม่ๆและทำให้บริษัทของท่านมีรายได้ลดลง ถ้าหากท่านท่านรับฟังข้อมูลจากทีมงานของท่านอย่างรอบด้านท่านจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นมากกว่าการตัดสินใจโดยลำพังคนเดียว |
|
|
6. ไม่สนใจรายละเอียดของขั้นตอนและเนื้อหาของงาน |
|
มีผู้บริหารเป็นจำนวนมากในหลายองค์กร รู้ว่าเขาต้องการผลลัพธ์อะไรจากการสั่งงานและมอบหมายงานในแต่ละเรื่องให้ลูกน้องและมักจะกำชับกับลูกน้องว่าต้องทำงานให้ได้ตามผลลัพธ์หรือเป้าหมายที่ตนเองต้องการ ภายในเวลาที่กำหนด แต่คนสั่งงานหรือมอบหมายงานไม่สนใจเลยว่าลูกน้องจะไปทำวิธีไหนเพื่อให้ได้ผลงานตามที่หัวหน้าต้องการ หัวหน้ากำหนดแต่ผลลัพธ์ที่ต้องการแต่หัวหน้าไม่ได้เป็นคนลงมือไปทำ แบบนี้เป็นอันตรายมาก เพราะหัวหน้าหรือคนสั่งจะไม่ทราบขั้นตอนของการทำงานของลูกน้อง ปัญหาที่ลูกน้องพบในขณะปฏิบัติงาน จึงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ลูกน้องได้และอาจถูกลูกน้องหลอกได้ โดยเสนอข้อมูลที่ผิดๆรายงานให้ทราบ หัวหน้าที่ไม่รู้ข้อมูลและขั้นตอนการปฏิบัติงานของลูกน้องก็อาจจะเชื่อข้อมูลที่ลูกน้องรายงาน ฉะนั้นผู้บริหารที่ดีต้องศึกษาขั้นตอนการทำงานทั้งหมดที่ลูกน้องทำผลงานมาส่งตนว่าเขามีขั้นตอนการทำงานอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง เราจะช่วยเขาได้อย่างไร ผมไม่ได้บอกว่าให้ท่านผู้บริหารต้องลงไปล้วงลูกทุกเรื่องอย่างละเอียดนะครับ แต่ผมกำลังบอกว่าให้ท่านสนใจศึกษาขั้นตอนการทำงานต่างๆในงานทุกงานที่ท่านสั่งให้ลูกน้องทำและศึกษาข้อจำกัดหรือปัญหาต่างๆที่ลูกน้องพบในการทำงานเพื่อการระดมความคิดหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันต่างหาก |
|
|
7. ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ |
|
ข้อนี้ผู้บริหารแบบไทยๆเป็นกันมากโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของกิจการ(ไม่ใช่ทุกคน) ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่าเป็นเพราะว่าผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของกิจการเป็นบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงมากในองค์กรจนไม่มีใครกล้าพอที่จะไปวิพากษ์ท่านเหล่านั้นได้เพราะกลัวจะถูกทำโทษ ความจริงแล้วผู้บริหารเหล่านี้เป็นคนที่น่าสงสารมากเพราะเวลาทำอะไรผิดพลาดหรือไม่เหมาะสม พวกเขาจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำเรื่องที่ไม่เหมาะสม เป็นคนที่มองไม่เห็นตนเองคือไม่รู้ว่าภาพลักษณ์ของตนเองในสายตาคนอื่นเป็นอย่างไร เวลาเกิดความไม่พอใจในเรื่องใดก็จะแสดงอารมณ์โกรธออกมาให้คนอื่นหรือลูกน้องรู้เช่น ด่าลูกน้องด้วยคำที่ไม่สุภาพ สีหน้าแดง มือสั่น กำมือแน่นเหมือนจะชกกับใครสักคน พูดจาเสียงดังมากกว่าปกติ สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณที่ส่งมาให้คนอื่นเห็นว่ากำลังโกรธแล้วนะ เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าจะไม่พอใจนะอย่าทำแบบนั้นอีกนะ ถ้าเป็นแบบนี้ก็แสดงว่าเขากำลังแสดงพฤติกรรมไปตามอารมณ์ อารมณ์กำลังควบคุมพฤติกรรมของเขา เขาควบคุมตนเองไม่ได้แต่เขาถูกอารมณ์ควบคุม การเป็นนักบริหารที่ดีไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นไม่ต้องมีความโกรธแต่คนที่เป็นนักบริหารที่ดีจะแตกต่างกับนักบริหารทั่วไปตรงที่เมื่อเขามีความโกรธแล้วเขาสามารถควบคุมความโกรธนั้นได้โดยไม่แสดงออกมาให้คนอื่นรู้แต่ในขณะที่กำลังโกรธอยู่นั้นเขายังสามารถเลือกใช้พฤติกรรมที่ดีแสดงออกกับคนที่เขากำลังโกรธต่างหาก ท่านจะทำเช่นนี้ได้ต้องมาจากการฝึกฝนไม่ใช่ปล่อยให้อายุมากขึ้นแล้วมันจะทำได้เองการฝึกฝนที่ว่านี้คือการฝึกสติให้รู้เท่าทันในอารมณ์ตนเองและในขณะที่กำลังโกรธให้คิดพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนว่าถ้าหากแสดงพฤติกรรมแบบนั้นออกไปผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร เราควรเลือกใช้พฤติกรรมที่เหมาะสมแสดงออกต่อผู้อื่นแม้ว่าเราจะกำลังโกรธก็ตาม ถ้าหากเราฝึกสติและคิดพิจารณาเลือกใช้พฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสมบ่อยๆ ต่อไปอารมณ์จะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของคุณได้แต่ตัวคุณต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมตนเองไม่ใช่อารมณ์ |
|
|
ความจริงแล้วยังมีลักษณะของผู้บริหารที่ทำให้องค์กรล้มเหลวอีกหลายข้อที่ผมยังไม่ได้เขียนในบทความนี้เพราะบทความนี้มีเนื้อที่ให้ผมจำกัด แต่ถ้าท่านสนใจต้องการทราบข้อมูลมากกว่านี้กรุณาเข้าไปดูได้ที่ www.aneklarp.com |
|
|
|
|
|
อาจารย์เอนกลาภ สุทธินันท์ |
|
|